งานแถลงข่าวผลงานโครงการสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสิรมการท่องเที่ยวและ MICE

สานพลังประชารัฐท่องเที่ยว เปิดแผนการปฏิรูป เน้นกระจายรายได้ เพิ่มขีดความสามารถ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหัวหน้าทีมภาครัฐ : คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงาน D3) เปิดเผยถึง แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุนการปฏิรูปและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หากมีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากการขยายตัวจากการท่องเที่ยว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 สำหรับแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) มีบทบาทในการสนับสนุนการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่  โดยให้ความสำคัญในเรื่องการซ่อมแซมบำรุงรักษา ฟื้นฟูวางระบบต่าง ๆ และเน้นในเรื่องความสะดวก ความสะอาด ความปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงผนึกกำลังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานโครงการ Amazing Thai Taste ชี้แจงรายละเอียดโครงการสำคัญ 4 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการ Amazing Thai Taste

  2. Downtown VAT Refund for Tourists

  3. Digital Tourism Platform

  4. การยกเลิกการใช้ ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติ

โครงการ Amazing Thai Taste เป็นความร่วมมือของพันธมิตรกว่า 50 องค์กร ในการร่วมกันส่งเสริมการรับประทานอาหารไทย ผลไม้ ข้าว และของฝากจากอาหาร ในกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการใช้จ่ายเฉพาะในเรื่องอาหารสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ผ่านกิจกรรมต่างๆเพื่อให้รายได้จากอาหารเหล่านี้กระจายถึงเศรษฐกิจรากฐานในภูมิภาคให้มากที่สุด ตั้งแต่เกษตรกร ชุมชน  ไปจนถึง Street Food ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีส่วนทำให้รายได้จากอาหารในกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากประมาณ 4.5 แสนล้านบาทในปี 2558 กลายเป็น 5.9 แสนล้านบาทในปี 2560 และทำให้สัดส่วนรายได้จากอาหารต่อรายได้ท่องเที่ยวรวม เพิ่มจากร้อยละ 18 กลายเป็นร้อยละ 21.2 อีกด้วย โครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ Amazing Thai Taste Restaurant ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายร้านอาหารแนะนำที่มีคุณภาพในทุกจังหวัดผ่านการคัดกรองของคณะทำงาน 5 ฝ่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ร้านอร่อยในท้องถิ่นกว่า 1,000 ร้านค้า เป็นแม่เหล็กที่จะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปชิมอาหารในภูมิภาค

 อีกโครงการหนึ่ง คือ Amazing Thai Taste Festival 2018 สืบเนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยที่สุด (Green Season) ประกอบกับเป็นช่วงที่จะมีผลไม้หลักหลายประเภทออกผลผลิตมาในช่วงนี้พอดี ทางคณะทำงาน D3 จึงมีแนวคิดที่จะใช้เรื่องอาหารเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาประเทศไทยในช่วงเดือนนี้ โดยจัดให้เป็นเดือนแห่งเทศกาลอาหารของไทย คล้ายกับงาน Oktoberfest ของเยอรมัน ซึ่งในปีนี้นอกจากจะมีกิจกรรมทั่วประเทศ จากพันธมิตรแล้ว ททท.ยังจะจัดงานเทศกาลอาหารใหญ่ในช่วงวันที่ 7 ถึง 10 มิถุนายน ที่สยามสแควร์ ซึ่งในงานจะเป็นการรวมอาหารขึ้นชื่อของทั้ง 5 ภาค อาหารจานเด็ดจากเชฟชื่อดัง และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย

          

โครงการ Downtown VAT Refund for Tourists เป็นการจัดตั้งจุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจัดให้เป็นบริการสาธารณะที่สามารถมาขอรับคืนภาษีฯ จากสินค้าที่ซื้อจากผู้ประกอบการในระบบ VAT Refund ทุกราย โดยจะคืนเป็นเงินสดในสกุลเงินบาทเท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำกลับมาจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวก และเพิ่มรายได้ รวมถึงสามารถกระจายรายได้ในส่วนนี้ไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย โดยจะเริ่มทดลองในช่วงแรก 5 แห่งในกรุงเทพฯ ภายในต้นเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ 1) สยามพารากอน  2) เซ็นทรัล เวิลด์ 3) เซ็นทรัล ชิดลม 4) โรบินสัน สุขุมวิท และ5) ดิ เอ็มโพเรียม จากนั้นจะประเมินผลเพื่อขยายไปยังจุดอื่น ๆ ต่อไป

โครงการ Digital Tourism Platform เป็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการสร้าง Platform ท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมของสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยว รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นภายใน Application เดียว เป็นการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจรสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยภายในปีนี้จะเริ่มที่ 5 โมดูลหลักก่อน คือ 1) Downtown VAT Refund for Tourists ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2) Amazing Thai Taste e -Showroom ร่วมกับสมาคมภัตตาคารไทย 3) Entertainment e-Ticket ร่วมกับสมาคมสวนสนุกฯ 4) Online Hotel Booking ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และ 5) Online Package & Optional Tour ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว

 และเรื่องสุดท้ายคือ การยกเลิก ตม.6  จากที่คณะทำงาน D3 ได้ผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้เอกสาร ตม.6 เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลได้พัฒนาไปมาก สามารถใช้ช่องทางอื่น ๆ ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทดแทน ตม.6 ได้ โดยยังคงมีความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน ส่งผลให้มีการยกเลิกการใช้ ตม.6 สำหรับคนไทยในปีที่แล้วนั้น ในปีนี้ คณะทำงาน D3 จะเดินหน้าผลักดันเพื่อขยายผลการยกเลิก ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติต่อไป โดยต้องใช้เวลาระยะหนึ่งสำหรับการพัฒนาระบบขึ้นมาทดแทน ซึ่งในหลายส่วนก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ททท. พัฒนาระบบเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวโดยใช้วิธีการทางสถิติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจาก ตม.6 เป็นต้น

 ด้าน นายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน : คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและMICE (คณะทำงาน D3) กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) จึงดำเนินโครงการเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวช่วยการกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่ (Value Chain) การท่องเที่ยว ผ่านเครือข่ายประชารัฐ อาทิ โครงการ “Amazing Thai Taste” ส่งเสริมการบริโภคอาหารไทย ผลไม้ไทยตามฤดูกาล ข้าวท้องถิ่น และของฝากจากอาหารไทย

ผ่านเครือข่ายประชารัฐ ช่วยกระจายรายได้ยังไปภาคเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 และประสบความสำเร็จจนทำให้ผลการสำรวจกิจกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2559 นิยมการชิมอาหารไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านโครงการ “เนรมิตอยุธยา” และโครงการ “ทัวร์ริมโขง” ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อให้อยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ชั้นนำของโลก และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง สู่ความเป็นสากล เชื่อมโยงเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับ 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อันจะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน”CMRU Startup Pitching Contest 2024″

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน กิจกรรมแข่งขันประกวด Business Model “CMRU St ...
Read More →

เปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ห ...
Read More →

เปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างเชียงใหม่ กับเมืองออสติน

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ ราชอ ...
Read More →