คู่แข่งไทย! เมียนมา เปิด 7 เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ จ่อให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ 35% โอกาสทองนักลงทุน

ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของไทย ดูจะเงียบๆ ลง เพราะรัฐบาลหันมาเน้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทว่า “เมียนมา” เตรียมเปิด 7 เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่หนุนลงทุน เอกชนชี้โอกาสธุรกิจเทรดดิ้ง-ค้าปลีกสดใส MIC ชงกฎหมายใหม่ให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ 35% ผ่อนปรนธุรกิจต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญฯ ไม่ต้องขออนุญาต พร้อมปรับสิทธิลดภาษีนิติบุคคล 3-7 ปี

นายชูชาติ เมฆตระการ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา( Myanmar Investment Commission : MIC) ได้รับทราบข้อมูลว่า ปีนี้เมียนมาจะปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งบริษัท (Company Act) โดยจะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้าไปถือหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 35% ซึ่งการปรับกฎหมายนี้จะให้กับธุรกิจกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มเทรดดิ้งมากขึ้น จากปัจจุบันที่กฎหมายหากแค่เพียงมีต่างด้าวถือหุ้นแค่ 1% ก็จะถือว่าเป็นต่างชาติ และจะไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปเปิดร้านค้าปลีก หรือโมเดิร์นเทรดได้เลย โดยไม่แบ่งแยกบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทในประเทศ มีแต่ Company Act ฉบับเดียว

“นโยบายส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาที่ผ่านมาเปิดกว้างมากขึ้น โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างด้าวถือหุ้น 100% ในบางธุรกิจที่ต้องการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ธุรกิจสื่อสาร อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจพลังงาน ทั้งยังปรับปรุงกฎหมายการลงทุนหลายประเด็น เช่น ผ่อนปรนให้ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญให้มายื่นขอรับรองเพื่อขอรับการยกเว้นภาษีเท่านั้นไม่จำเป็นต้องมาขอรับใบอนุญาต ยกเว้นถ้าเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชี เช่น พลังงาน เหล้า เบียร์ บุหรี่ ก็ยังต้องมาขออนุญาตจาก MIC”

นอกจากนี้ ยังปรับโซนนิ่งพื้นที่ที่ขอรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล-การนำเข้าวัตถุดิบในเมียนมาใหม่ 3-5-7 ปี เช่น โซนย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี ถัดไกลออกมาก็เว้น 5 ปี และถ้าไกลมาก ๆ อย่างทวายก็เว้นภาษีให้ 7 ปี

ทั้งนี้ ข้อมูล MIC ระบุว่า ปี 2559 มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและสิงคโปร์ แต่ก็ลดลงจากเดิมที่เคยเป็นอันดับ 1 ช่วงก่อนเมียนมาเปิดประเทศ เพราะสู้นักลงทุนจีนรุกเข้าไปลงทุนในโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมจ้าวผิ่วไม่ได้ แม้ว่าไทยจะมีการลงทุนในทวายก็ยังไม่คืบหน้า

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและข้ามแดน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เมียนมาอยู่ระหว่างการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ 7 แห่ง (ตามภาพ) จากเดิมที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกผิว, ติลาวา และทวาย ไม่รวมนิคมอุตสาหกรรมอีก 18 แห่งที่เปิดไปแล้ว

“เมียนมามีประชากรมากพอ ๆ กับไทย มีจีดีพีสูงสุดในกลุ่ม CLMV และเป็นโอกาสที่จะลงทุนธุรกิจบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวเพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปแต่ละปีเป็นจำนวนมาก”

โดยในปี2558(2015) มีนักท่องเที่ยว 4,681,020 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งมี 3,081,412 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 204,539 คน แหล่งท่องเที่ยวหลัก คือ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนย์ปิดอว์

ด้านนายสรชัย เตรียมชนะเดช ประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านเมียนมา หอการค้าไทยและสภาหอฯ เห็นว่า เมืองเมาะลำไยเป็นเมืองที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากขึ้นเหมาะกับการลงทุน โดยขณะนี้มีโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ต่อวัน และในอีก 3-5 ปี ข้างหน้ารัฐบาลได้อนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 560 เมกะวัตต์อีก 1 โรง จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้-ต้นปีหน้า คาดว่าจะเสร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า หากมีโรงไฟฟ้า 2 แห่งจะหมดปัญหาเรื่องไฟดับจึงเหมาะสำหรับการลงทุนทำโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับอาหารทะเลแปรรูปเพราะเมืองนี้ถือว่าเป็นเมืองท่าติดทะเล มีการลงทุนท่าเรือน้ำลึก มีเรือประมงประมาณ 600 – 1,000 ลำ ส่งให้ไทยถึง 70% และมีระยะทางห่างจากแนวชายแดน 150 กม. ใช้เวลา 2 ชั่วโมงจากแม่สอด เทียบกับจากแม่สอดไปย่างกุ้งใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง และห่างจากทวาย 300 กม.

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน”CMRU Startup Pitching Contest 2024″

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน กิจกรรมแข่งขันประกวด Business Model “CMRU St ...
Read More →

เปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ห ...
Read More →

เปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างเชียงใหม่ กับเมืองออสติน

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ ราชอ ...
Read More →