รัฐบาลเร่งยกระดับเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ Thailand’s development landscape forward ในงาน Digital Intelligent Nation 2018 ที่จัดโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ณ จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล โดยเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดไปสู่ดิจิตอล เพราะปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มเก่า และไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถทะยานไปได้มากกว่านี้ ซึ่งปีนี้จากตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของสภาพัฒน์ที่ 4.1% เชื่อว่าถ้าทำได้ตามแผน รัฐบาลลงทุนโครงการใหญ่ได้ตามเป้า และการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ตัวเลขจีดีพีทั้งปีนี้เชื่อว่าสูงกว่า 4.1% แน่นอน

“เศรษฐกิจทรุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ตัวเลขยังไม่สามารถทะยานไปมากกว่านี้ จากปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังมีอยู่ ด้วยโครงสร้างการผลิต การค้าขายที่ยังล้าสมัย ในขณะที่ช่วง 5-6 ปีโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการผลิตทั่วโลกไปสู่ดิจิตอลแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยตื่นสาย เราเพิ่งตื่นได้ 3 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการให้ดิจิตอลไปสู่ทุกคนในประเทศนี้ให้ได้ จากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน หรือเน็ตประชารัฐ เพิ่งเกิดเมื่อ 2 ปี เพื่อให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ มาเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ดิจิตอล ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต สร้างนวัตกรรม และสามารถค้าขายได้ทั่วโลก จะทำให้เติบโตเป็นทวีคูณ”

ใน 3 ปีนี้เป็นเวลาสำคัญ และรัฐบาลกำลังดำเนินการ ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งเอกชนที่ตื่นตัวมาโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และทุกคนในประเทศ เพื่อให้ได้ดิจิตอลสำหรับทุกคน หรือ ดิจิตอลฟอร์ออล โดยไทยต้องเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ และต้องก้าวไปข้างหน้าให้ได้

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการ เอไอเอส กล่าวว่า ศักยภาพด้านนวัตกรรม (อินโนเวชั่น) เป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2544 อยู่ที่ 0.2% ของจีดีพี และคงที่อยู่แบบนี้มาหลายปี แต่เริ่มขยับในปี 2559 อยู่ที่ 0.78 ของจีดีพี รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1 ของจีดีพีเป็นครั้งแรก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1.5% ของจีดีพี ส่วนจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2557 อยู่ที่ 12.9 คนต่อหมื่นประชากร และมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาจนในปี 2559 คือ 17 คนต่อหมื่นประชากร โดยมีเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้อยู่ที่ 25 คนต่อหมื่นประชากร ซึ่งถือว่าไม่เลว และคาดการณ์ในปีนี้ไทยติดอันดับ 44 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก

“การวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีความหวัง จากการผลักดันนโยบายที่ทำให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่อง และในส่วนเอไอเอส ช่วงที่เข้ามาเป็นกรรมการเอไอเอสกว่า 2 ปีครึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง กับมหาวิทยาลัย และอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ของบริษัทรายใหญ่หลายๆ แห่ง อย่าง หัวเว่ย บริษัทเดียวลงทุนด้านวิจัยพัฒนาถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 ปี 2560 อยู่ที่ 10-11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้าประเทศไทยเฉพาะภาครัฐลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาถึงแสนล้านบาทจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนแน่นอน เพราะเอกชนก็มีการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจะเห็นผลแน่นอน”

ที่มา: ข่าวสด

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน”CMRU Startup Pitching Contest 2024″

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน กิจกรรมแข่งขันประกวด Business Model “CMRU St ...
Read More →

เปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวโชว์รูมเชียงแสง ไทรอัมพ์ เชียงใหม่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ห ...
Read More →

เปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างเชียงใหม่ กับเมืองออสติน

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงานเปิดตัวการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ ราชอ ...
Read More →